1-2-3-4 มือถือ Gen ไหนคุณทันใช้บ้าง [ดักแก่!]

 

สวัสดีคร๊าบบบ! เน่ๆ คุณเป็นคนนึงที่คอยเฝ้าติดตามข่าวสารเทคโนโลยีในแวดวงโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องจากเพจและเว็บของ Oopsmobile มาโดยตลอดอ๊ะป่าว! ถ้าใช่ จุ๊จุ๊ ผมมีอะไรจะบอก เอียงหูเข้ามาใกล้ๆสิ

 

“ปุกาดๆ! ตอนนี้เว็บ Oopsmobile เค้าเพิ่มหมวดหมู่หรือ Catagory ที่เป็นบทความหรือเนื้อหาที่เป็นสาระประโยชน์ที่อัดแน่นเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆที่มีอยู่บนโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนมาให้แฟนๆได้ติดตามอ่านกันแล้วนะจ๊ะ…รู้ยางงงงง!”

 

โดยกระผมผู้ที่เฝ้าตามติดเทคโนโลยีของอุปกรณ์สื่อสารมาตั้งแต่ยุคเพจเจอร์หรือยุคที่พี่ เจ เจตริน ยังไม่เข้าวงการ ^^ จะเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้นวดเฟ้นข้อมูลเหล่านี้ให้ได้ที่จนพร้อมเสิร์ฟแล้วนำมาวางไว้บนหน้าเว็ป Oopsmobile ให้ทุกๆท่านได้คอยติดตามอ่านกันเป็นระยะๆ ซึ่งกระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านที่เคยมีข้อสงสัยในหลายๆประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆบนโทรศัพท์มือถือได้คลายข้อสงสัยกันหรืออาจช่วยให้เข้าใจถึงรายละเอียดต่างๆเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

 

ถ้าอย่างนั้นบทความสำหรับการเปิดตัวในครั้งแรกนี้ ผมขอยกเอาเรื่องประวัติความเป็นมาของโทรศัพท์มือถือนับตั้งแต่ในยุคแรกๆจนถึงยุคปัจจุบันมาเล่าสู่กันฟังดีกว่า ก่อนที่จะนำไปสู่เรื่องราวของเทคโนโลยีต่างๆที่มีอยู่บนโทรศัพท์มือถือกันอย่างจริงจังในโอกาสต่อๆไป ว่าแล้วจะรอช้าอยู่ใย…ไปดูกันเล๊ยยยย!

 

วิวัฒนาการของโทรศัพท์มือถือ

 

ยุค 0G หรือ Zeroth Generation

 

bell from-backpack-transceiver-smartphone-visual-history-mobile-phone.w654 (2)

 

การสื่อสารด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือในยุคแรกๆ จะเป็นการสื่อสารกันด้วยวิทยุสื่อสารไร้สายในระบบอนาล็อค (Analog) ผ่านคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Waves) โดยจะเป็นการสื่อสารกันในแบบกึ่งสองทาง (Half Duplex) คือ ผลัดกันเป็นผู้รับและผู้ส่ง หรือสลับกันพูด จะพูดพร้อมกันในเวลาเดียวกันไม่ได้ เช่น วิทยุสื่อสารที่ใช้ติดต่อกันระหว่างเรือกับเรือ หรือรถไฟกับรถไฟในสมัยนั้น ฯลฯ ต่อมาหลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายๆประเทศเริ่มพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านการสื่อสารด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่กันอย่างจริงจัง โดยมีบริษัท Bell Mobile System ของอเมริกาได้เข้ามาริเริ่มปรับปรุงโครงสร้างการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นรายแรก แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเต็มระบบ เพราะยังรองรับการโทรพร้อมๆกันได้น้อยและมีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก ซึ่งตรงนี้เองที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุค 0G หรือ Zeroth Generation

 

ยุค 1G หรือ First Generation

 

phone01

ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกจึงได้ถือกำเนิดขึ้นโดยเป็นผลงานการคิดค้นร่วมกันของนาย John F.Mitchell และนาย Martin Cooper จากบริษัท Motorola ซึ่งโทรศัพท์เครื่องนี้มีน้ำหนักมากถึงเกือบ 2 กิโลกรัม แถมยังต้องชาร์จไฟนานถึง 10 ชั่วโมงเพียงเพื่อให้ใช้งานโทรศัพท์ได้นานแค่ 30 นาที ถัดมาหลังจากนั้นอีก 6 ปี บริษัท NTT ก็ได้เปิดตัวเครือข่ายโทรศัพท์มือถือระบบอัตโนมัติในเชิงพาณิชย์ขึ้นในญี่ปุ่นเป็นรายแรก พร้อมๆกับการที่ Motorola ก็ได้เปิดตัว DynaTAC 8000X ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกที่ได้รับอนุญาตให้นำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ และหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือในระบบอื่นๆจากอีกหลายประเทศ เช่น ระบบนอร์ดิก (NMT : Nordic Mobile Telephone System) ที่มีให้บริการในกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียนอย่าง เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ซึ่งในปี พ.ศ. 2529 ประเทศไทยเองโดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยก็ได้นำเอาระบบนี้เข้ามาใช้ แต่ได้ปรับเปลี่ยนความถี่ใช้งานจาก 450 MHz มาเป็น 470 MHz โดยให้ชื่อว่าระบบ NMT470 ซึ่งนับได้ว่าเป็นระบบโทรศัพท์มือถือระบบแรกที่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทย โดยในระยะแรกเปิดให้บริการเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมลฑล และจังหวัดชายฝั่งด้านตะวันออก ก่อนขยายการให้บริการไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา สำหรับตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ถูกนำมาใช้งานในระบบ NMT470 นี้ จะมีหน้าตาคล้ายกระเป๋าหิ้ว และมีน้ำหนักมาก พูดแบบนี้คนที่เป็นผู้ใหญ่หลายท่านคงนึกภาพออกกันนะครับ ^^

 

123

ต่อมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ประเทศไทยโดยการสื่อสารแห่งประเทศไทยยังได้นำเอาระบบ AMPS (Advance Mobile Phone System) ที่ใช้งานบนความถี่ 800 MHz เข้ามาเปิดให้บริการด้วย โดยใช้ชื่อว่าระบบ AMPS800 ซึ่งผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินชื่อนี้เพราะเป็นระบบที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น ด้วยข้อดีที่ว่าตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ถูกนำมาใช้งานกับระบบนี้ จะมีขนาดเล็กทำให้พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกกว่านั่นเอง

 

ในช่วงที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในระบบ NMT470 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น ก็ได้มีการกำหนดรหัสสำหรับการเรียกเข้าสู่ระบบโทรศัพท์มือถือที่เป็นการเฉพาะขึ้น นอกเหนือจากรหัสทางไกลสำหรับโทรไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยรหัสที่กำหนดคือ 01 ซึ่งผู้ที่ต้องการติดต่อหรือโทรเข้ายังระบบโทรศัพท์มือถือต้องใส่รหัส 01 แล้วตามด้วยหมายโทรศัพท์มือถือ 7 หลัก ซึ่งภายหลังผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือในระบบ AMPS800 ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเอง ก็ถูกปรับให้มาใช้รหัสเลขหมายที่ขึ้นต้นด้วย 01 นี้ด้วยเช่นกัน

 

2phone

การเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบต่างๆที่กล่าวมาในช่วงยุคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 จนมาถึงราวๆปี พ.ศ. 2533 จะให้บริการรับส่งข้อมูลเฉพาะที่เป็นเสียง (Voice) หรือเป็นการโทรเข้าและรับสายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถรับส่งข้อมูลที่เป็น Data อย่างเช่น ข้อความหรือ SMS ได้ จึงถูกจัดให้เป็นระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 1G หรือ First Generation เนื่องจากเทคโนโลยีของระบบโทรศัพท์มือถือที่ใช้ยังคงเป็นแบบอนาล็อค (Analog) ซึ่งยังคงใช้หลักการพื้นฐานของการส่งสัญญาณแบบ FDMA (Frequency Division Multiple Access) อยู่ โดยอาศัยวิธีการแบ่งช่องความถี่ออกเป็นความถี่ย่อยหลายๆช่องแล้วใช้สัญญาณคลื่นวิทยุเป็นตัวนำพาคลื่นเสียงส่งไปยังสถานีรับ แต่ทั้งนี้เนื่องจากในทุกๆ 1 คลื่นความถี่จะเท่ากับ 1 ช่องสัญญาณ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นมาในเวลานั้นจะสามารถใช้บริการโทรศัพท์ได้เฉพาะในช่องความถี่ที่ว่างอยู่เท่านั้น ส่งผลให้เมื่อมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ระบบก็ไม่สามารถรองรับการให้บริการพร้อมๆกันได้ จึงทำให้ระบบโทรศัพท์มือถือในยุคนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนักและก่อให้เกิดเป็นแรงผลักดันเพื่อการพัฒนาไปสู่ระบบโทรศัพท์มือถือในยุคถัดไป

 

ยุค 2G หรือ Second Generation

 

3310หลังจากนั้นในปีต่อๆมาจึงได้มีการพัฒนารูปแบบของการสื่อสารไร้สายจากเดิมที่เป็นการส่งสัญญาณเสียงผ่านคลื่นความถี่วิทยุในระบบอนาล็อค (Analog) มาเป็นการเข้ารหัสสัญญาณเสียงในระบบดิจิตอล (Digital) ก่อนที่จะถูกส่งผ่านไปบนคลื่นความถี่ไมโครเวฟที่อาศัยหลักในการส่งสัญญาณแบบ TDMA ซึ่งในการเข้ารหัสสัญญาณในระบบดิจิตอลนี้ แน่นอนว่านอกจากจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลได้มากกว่าระบบอนาล็อคเดิมแล้ว ยังช่วยในเรื่องของคุณภาพของสัญญาณเสียงที่ได้ในระหว่างที่มีการติดต่อสื่อสารกันก็จะยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วย โดยในยุคนี้นอกจากตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือจะมีขนาดที่เล็กลงและบางเบาขึ้นแล้ว ยังได้เริ่มมีการนำเอาซิมการ์ดมาใช้ และถือเป็นยุคแรกของการเริ่มต้นใช้งาน Data ด้วยการเปิดให้บริการรับส่งข้อความสั้นๆที่เป็น Short Message Service หรือ SMS ร่วมด้วย

 

cellularนอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจากเดิมที่เป็นระบบอนาล็อคเซลลูล่าร์ (Analog Cellular) มาเป็นระบบดิจิตอลเซลลูล่าร์ (Digital Cellular) เพื่อรองรับการใช้งานร่วมกับโทรศัพท์มือถือในระบบเซลลูล่าร์ต่างๆที่จะตามมา โดยโทรศัพท์มือถือในระบบเซลลูล่าร์นี้จะติดต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือผ่านทางการเชื่อมต่อกับสถานีฐานหรือ Cell Site ที่ในแต่ละจุดจะถูกกำหนดให้ดูแลครอบคลุมพื้นที่ใช้งานของตัวเองที่ถูกแบ่งออกเป็น เซลล์ (Cell) ทำให้นอกจากจะปลอดภัยจากการดักฟังแล้ว ยังช่วยให้เกิดการโทรข้ามประเทศหรือ International Roaming ได้อีกด้วย เพราะระบบดิจิตอลเซลลูล่าร์ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานที่หลายๆประเทศจะต้องใช้งานร่วมกัน และนี่เองจึงก่อให้เกิดเป็นที่มาของคำว่า GSM หรือ Global System for Mobile ที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆจนคุ้นหูนั่นเอง

 

2.5G

 

544e0a5440b43หลังจากนั้นมาตรฐาน GSM ก็ได้ถูกพัฒนาให้มีขีดความสามารถที่จะรองรับการสื่อสารข้อมูลด้วยอัตราความเร็วที่สูงยิ่งขึ้นจนทำให้เกิดเป็นมาตรฐาน GPRS ที่ในทางทฤษฏีจะรองรับความเร็วสูงสุดได้ถึง 115 Kbps (ในทางปฏิบัติอาจถูกจำกัดไว้แค่ 40 Kbps) ซึ่งช่วยให้สามารถรับส่งข้อมูลที่เป็น ข้อความ ภาพ และเสียงที่อยู่ในรูปแบบของมัลติมีเดียต่างๆหรือที่เรียกว่า MMS (Multimedia Messaging Service) ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ อีกทั้งในยุคนี้ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงหน้าจอโทรศัพท์ให้รองรับการแสดงผลที่เป็นสีสันต่างๆมากขึ้น รวมไปถึงเสียงเรียกเข้าก็ได้ถูกพัฒนาจาก Monotone มาเป็น Polyphonic ที่ให้ระดับและคุณภาพของเสียงที่ไพเราะยิ่งขึ้น ก่อนจะพัฒนามาเป็น MP3 ในอีกหลายปีถัดมา

 

2.75G

 

nokiaN95_1691092iก้าวเข้าสู่ยุคของ EDGE ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก GPRS ให้รองรับการสื่อสารข้อมูลด้วยความเร็วที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในทางทฤษฏีจะมีความเร็วสูงสุดได้ถึง 384 Kbps แต่ในทางปฏิบัติความเร็วในระดับนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะด้วยข้อจำกัดของระบบที่ต้องมีการแบ่งช่องสื่อสารสำหรับการใช้งานด้านเสียงไว้ด้วย เนื่องจากในยุคนี้เรายังไม่สามารถใช้งาน Data กับ Voice ไปพร้อมๆกันได้ ตรงจุดนี้ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้มีโอกาสสัมผัสกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมาตรฐาน EDGE กันมาบ้างแล้ว
สรุปว่าระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 2G หรือ Second Generation นอกจากจะเป็นประตูเปิดสู่โลกในยุคดิจิตอลของระบบโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังเป็นประตูเปิดสู่ยุคของการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถืออย่างแท้จริงอีกด้วย เพราะนอกจากตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือในยุคนี้จะถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เช่น เป็นหน้าจอสี มีกล้องถ่ายรูป ใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ และใช้หน่วยประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นยุคเดียวกับที่บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือหลายๆรายทั่วโลกต่างก็หันมาเปิดตัวโทรศัพท์มือถือหรือที่ในภายหลังถูกเรียกว่าสมาร์ทโฟน (SmartPhone) ขึ้นในประเทศไทย โดยเป็นการให้บริการในระบบ 2G ที่ใช้มาตรฐาน GSM บนคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz

 

ยุค 3G หรือ Third Generation

 

iphone_3g_16gb_black_front_600x600นับตั้งแต่ยุค 2G เป็นต้นมา ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการในการใช้งาน Data บนโทรศัพท์มือถือนับวันก็ยิ่งดูจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทางออกจึงต้องทำให้ระบบโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่มีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก ในปี พ.ศ. 2544 หรือผ่านมาอีก 10 ปี ระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 3G หรือที่เรียกว่าระบบ UMTS (W-CDMA) ซึ่งเป็นระบบที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากยุค 2G จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นการนำเอาข้อดีของระบบเครือข่ายบนมาตรฐาน CDMA ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยสหรัฐฯมาปรับใช้กับระบบ GSM ในเมืองไทยที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มประเทศในแถบยุโรป โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU เป็นผู้กำหนดให้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz เป็นคลื่นความถี่มาตรฐานสำหรับใช้ในการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆที่รองรับเทคโนโลยี 3G เพื่อให้ในทุกๆประเทศใช้เป็นมาตรฐานกลางร่วมกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโทรศัพท์มือถือแทบทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่ถูกผลิตออกมาขายจะรองรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ 2100 MHz เป็นหลักแทบทั้งสิ้น ส่วนจะมีคุณสมบัติรองรับความถี่ย่านอื่น เช่น 850, 900, 1800 และ 1900 MHz ด้วยหรือไม่นั้น ตรงนี้ถือเป็นทางเลือกของผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ตามมาตรฐานสากลแล้วการใช้งานที่เข้าข่ายหรือถูกจัดว่าเป็นเทคโนโลยี 3G จะต้องมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลไม่ต่ำไปกว่า 2 Mbps (ในขณะใช้งานอยู่กับที่หรือในขณะเดิน) และต้องมีอัตราความเร็วไม่น้อยไปกว่า 384 Kbps (ในขณะใช้รถหรือในขณะวิ่ง) ซึ่งถ้าหากมีอัตราความเร็วที่ต่ำไปกว่านี้ก็จะถูกปรับเปลี่ยนไปใช้เป็น EDGE แทน นอกจากนี้โทรศัพท์มือถือที่รองรับกับเทคโนโลยี 3G จะต้องใช้งานร่วมกับโครงข่ายอื่นๆทั่วโลกได้ด้วย

 

3.5G

 

2012-iphone4s-gallery1-zoomเป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยี 3G เดิม ในระบบ UMTS (W-CDMA) ที่มีความเร็วสูงสุดเพียง 384 Kbps มาเป็น 3.5G ในระบบ UMTS (HSDPA) ที่ในช่วงแรกมีการเพิ่มอัตราความเร็วสูงสุดในการรับส่งข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝั่งขาลงหรือดาวน์โหลดให้สูงขึ้นเป็น 14.4 Mbps/384 Kbps (Download/Upload) แต่ในทางปฏิบัติผู้ให้บริการต่างๆยังคงจำกัดความเร็วไว้ให้ใช้งานจริงเพียงแค่ 7.2 Mbps เท่านั้น และในช่วงต่อมาก็ได้มีการพัฒนาการรับส่งข้อมูลทางฝั่งขาขึ้นหรือการอัพโหลดให้มีความเร็วเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.76 Mbps โดยให้ชื่อว่าระบบ HSUPA ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเมื่อรวมทั้ง 2 ระบบคือ HSDPA และ HSUPA เข้าไว้ด้วยกัน จนกลายมาเป็น 3.5G ในระบบ UMTS (HSPA) ที่ถูกใช้งานกันแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดเป็น 14.4 Mbps/5.76 Mbps (Download/Upload) นั่นเอง

 

3.9G

 

images_13474844861สั้นๆก็คือเป็นการต่อยอดจาก 3.5G ในระบบ UMTS (HSPA) เดิม ให้มีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดขยับเพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 42 Mbps/22 Mbps (Download/Upload) แล้วให้ชื่อเรียกเสียใหม่ว่าเป็น 3.9G ในระบบ UMTS (HSPA+) นั่นเอง

 

ก่อนจะไปต่อเดี๋ยวขออธิบายเพิ่มเติมไว้ตรงนี้นิดนึงนะครับว่าที่เห็นความเร็วสูงสุดเท่านั้นเท่านี้ เช่น 7.2 Mbps บ้าง 14.4 Mbps หรือ 42 Mbps บ้าง อันนี้อย่าเพิ่งกระหยิ่มยิ้มย่องดีใจไปนะครับว่าเครื่องชั้นแพ็คเกจชั้นต้องได้ความเร็วเท่านั้นเท่านี้ไปตลอด บางท่านทราบแต่อีกหลายๆท่านอาจไม่ทราบว่า ผู้ให้บริการมือถือทุกๆรายทั่วโลกจะมีนโยบายที่เป็นมาตรฐานสากลที่ต้องยึดถือเป็นข้อปฏิบัติร่วมกันสำหรับการให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่าย 3G และ 4G บนมือถือ ซึ่งเรียกว่า FUP หรือ Fair Usage Policy

 

 

130619012323772

 

 

นโยบายตรงนี้มีไว้เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการใช้งาน Data ผ่านเครือข่าย 3G และ 4G เพื่อให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและใช้งานได้อย่างเหมาะสม โดยคุณจะสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้ด้วยความเร็วสูงสุดตามแพคเก็จที่เลือกใช้และที่ตัวเครื่องรองรับไปตลอดจนกว่าปริมาณการใช้งาน Data จะครบตามจำนวนที่ผู้ให้บริการกำหนดไว้ ซึ่งถ้าหากใช้งาน Data ครบตามปริมาณการใช้งานที่กำหนดไว้แล้ว คุณจะได้รับ SMS เตือนว่าคุณใช้แพคเก็จความเร็วสูงสุดครบแล้ว ซึ่งทั้งนี้คุณยังคงสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านบนมือถือได้อยู่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติมเพียงแต่คุณจะถูกปรับลดความเร็วในการใช้งานลง จนทำให้ไม่ได้ใช้ความเร็วสูงสุดตามแพคเก็จที่เลือกไว้และที่ตัวเครื่องรองรับไปตลอดจนกว่าจะครบรอบบิลตามแพคเก็จที่คุณเลือก เช่น หากคุณเลือกใช้แพคเก็จรายเดือนแบบไม่จำกัดการใช้งาน 3G/4G หรือ Unlimited ความเร็วที่คุณจะสามารถใช้งานได้ทั้งก่อนและหลังที่คุณจะใช้งาน Data ครบตามปริมาณที่กำหนดของผู้ให้บริการแต่ละรายในประเทศไทยสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้

 

  • AIS 3G/4G ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 7.2 Mbps (HSPA) หลังจากใช้งาน Data ครบ 3 GB แล้วความเร็วจะลดลงเหลือเพียง 384 Kbps
  • DTAC 3G/4G ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 42 Mbps (HSPA) หลังจากใช้งาน Data ครบ 1-3 GB แล้ว ความเร็วจะลดลงเหลือเพียง 128 หรือ 384 Kbps (แล้วแต่แพคเก็จย่อยๆ)
  • TRUE 3G/4G ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 42 Mbps (HSPA+) หลังจากใช้งาน Data ครบ 3 GB แล้วความเร็วจะลดลงเหลือเพียง 128 Kbps

 

ที่ผู้ให้บริการมือถือแต่ละค่ายทำเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้นำอินเตอร์เน็ตบนมือถือมาใช้งานในแบบที่ผิดวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น โหลดบิท โหลดหนัง หรือส่งคลิปวิดีโอขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีการรับส่งข้อมูลในปริมาณมาก หากนำไปใช้งานในลักษณะนี้พร้อมๆกันหลายคน อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน Data ปกติบนมือถือคนอื่นๆที่อยู่บนเครือข่ายด้วย เพราะแบนด์วิธจะถูกดึงไปใช้จนทำให้คนอื่นๆที่อยู่บนเครือข่ายได้รับความเร็วลดลงนั่นเอง

 

กลับมาเข้าเรื่องกันต่อไหนๆก็พูดถึงข้อกำหนดต่างๆที่ใช้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับเทคโนโลยี 3G และความเร็วในยุคต่างๆของ 3G กันไปแล้ว ทีนี้มาพูดถึงจุดเด่นกันบ้าง จุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ถือได้ว่ามีความเร็วมากพอที่จะรับส่งไฟล์ขนาดใหญ่หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆบนอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งยังรองรับการเปิดดูคลิปวิดีโอหรือแม้แต่การเปิดดูรายการถ่ายทอดสดต่างๆ ตลอดไปจนถึงการใช้งาน Data ที่สามารถใช้งานไปพร้อมๆกับการสนทนาหรือพูดคุยโทรศัพท์ได้ด้วยอย่าง Video Call เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ในยุค 2G ยังทำไม่ได้ และจุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างก็คือ มันจะมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอยู่ตลอดเวลา (Always On) เพื่อคงสถานะการออนไลน์เอาไว้ แม้การเชื่อมต่ออาจจะหลุดไปเองในบางครั้งแต่มันก็จะกลับมาเชื่อมต่อใหม่ให้เองโดยอัตโนมัติเสมอ คล้ายๆกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบ High Speed ที่บ้านคุณนั่นแหละ คือไม่ต้องมาคอย Log-On เพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายเวลาที่จะใช้งานอินเทอร์เน็ตในแต่ละครั้งเหมือนกับโทรศัพท์มือถือในยุค 2G นั่นเอง

 

ยุค 4G หรือ Fourth Generation

 

iphone6-gold-select-2014นับตั้งแต่มีเทคโนโลยี 3G โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนได้ถูกพัฒนาไปเร็วมาก ทำให้เราสามารถเข้าถึงและใช้งานอินเตอร์เน็ตได้จากบนมือถือตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เราสามารถพูดคุยโทรศัพท์แล้วมองเห็นหน้ากันและกันในแบบ Realtime ได้ ทำให้เราสามารถดูทีวีออนไลน์ที่เป็นรายการสดต่างๆได้จากบนมือถือในทุกๆที่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิวัฒนาการอันน่าทึ่งของเทคโนโลยี 3G ที่ช่วยให้การรับส่งข้อมูลปริมาณมากๆผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องง่ายๆสำหรับทุกคน แต่ก็ใช่ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านความเร็วของการรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจะเพียงพอและหยุดนิ่งอยู่เพียงแค่นี้ เพราะที่ผ่านมาการใช้งาน 3G ต้องขอบอกเลยว่ายังพบกับปัญหาต่างๆอยู่อีกมากมาย เช่น เน็ตหลุด สัญญาณข้ดข้อง ภาพกระตุก ความเร็วในการรับส่งข้อมูลถูกจำกัด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนกลายเป็นแรงผลักดันก่อให้เกิดเป็นการพัฒนาไปสู่ยุคถัดไปนั่นคือเทคโนโลยี 4G นั่นเอง

 

111ระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 4G ได้ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบโทรศัพท์มือถือในยุคก่อนๆให้มีประสิทธิภาพและมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งความเร็วบนมาตรฐาน 4G นั้น ได้ถูกกำหนดไว้ที่ 1 Gbps แต่ด้วยขีดจำกัดทางด้านเทคโนโลยีและความพร้อมของผู้ให้บริการ จึงทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลบนมาตรฐาน 4G ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ยังมีความเร็วไม่ถึงตามที่กำหนด โดยที่ใช้ๆกันอยู่จะมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลอยู่ที่ 100 -120 Mbps เท่านั้น แต่ด้วยความเร็วที่สูงขึ้นนี้ก็ยังช่วยให้เราสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อื่นๆที่รองรับกับเทคโนโลยี 4G นี้ได้หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งการดูวิดีิโอออนไลน์ด้วยความคมชัดและไม่มีการกระตุก, การโทรฯข้ามประเทศแบบมองเห็นหน้ากันและกันที่สามารถโต้ตอบกันได้ทันที ณ ขณะนั้น (Video Call) และการประชุมทางไกลผ่านโทรศัพท์ (Tele-Conference) ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วมประชุมที่อยู่นอกสำนักงาน เป็นต้น

 

ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีของระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 4G จริงๆแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ระบบด้วยกัน คือ WiMAX ซึ่งจะนิยมใช้แค่ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และบังคลาเทศ กับ LTE หรือ Long Term Evolution ที่ซึ่งเป็นระบบที่ถูกนำมาใช้กันแพร่หลายในบ้านเราเวลานี้ โดยอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถรองรับการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี 4G LTE ได้นี้ ก็จะมีรูปร่างหน้าตาที่เหมือนๆกันกับอุปกรณ์สื่อสารที่รองรับกับเทคโนโลยี 3G ที่เราใช้ๆกันอยู่นี่แหละ เพียงแต่มีชิปที่รองรับกับเทคโนโลยี 4G LTE ติดตั้งอยู่ในเครื่อง

 

1409162387973screencapture  4GTechno

 

ปัจจุบันในประเทศไทยหลังจากผ่านพ้นการประมูลคลื่นความถี่ 4G ไปแล้ว ผู้ให้บริการจาก 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ในประเทศที่ประมูลได้ไปคือ AIS, True Move H และ Dtac ต่างก็ไปจัดเตรียมและปรับปรุงเครือข่ายของตนที่มีอยู่แล้วเกือบทั่วประเทศให้รองรับกับการเปิดให้บริการ 4G ในอนาคต โดยปัจจุบัน True Move H ถือเป็นค่ายแรกที่ได้เปิดให้บริการใช้งาน 4G LTE บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ไปแล้ว ที่ถึงแม้คลื่นดังกล่าวจะถูกประมูลมาเพื่อใช้ทำ 3G ก็ตาม แต่ True Move H ก็ได้ถือโอกาสแบ่งคลื่นความถี่บางส่วนมาใช้ทำ 4G ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ถ้าลูกค้าจะใช้บริการ 4G LTE ของ True Move H ตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารที่นำมาใช้นอกจากจะต้องรองรับกับเทคโนโลยี 4G LTE แล้ว ก็จะต้องรองรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ 2100 MHz ด้วย ส่วนอีกสองค่ายที่เหลือคือ AIS และ Dtac กำลังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบการใช้งาน ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้น่าจะเตรียมเปิดให้บริการ 4G LTE บนคลื่นความถี่ 2300 MHz สำหรับ AIS และคลื่นความถี่ 2100 MHz สำหรับ Dtac แล้วด้วยเช่นกัน

 

4.5G

 

qualcomm_carrier_aggregationเป็นระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นจาก 4G LTE เดิม ให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจนกลายมาเป็น 4.5G LTE-Advanced หรือ 4.5G ( LTE-A ) ซึ่งมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 150 Mbps หรือประมาณให้เข้าใจง่ายๆก็คือ สามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังขนาด 1GB ให้เสร็จได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 นาทีนั่นเอง นอกจากนี้ LTE-A ยังสามารถทำงานร่วมกับระบบ LTE เดิมได้ แต่อาจไม่สามารถใช้งานลูกเล่นใหม่ๆ บางประการของ LTE-A บนระบบ LTE ได้

 

Samsung-Galaxy-S4-LTE-A

 

ระบบ LTE-A จะมีประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นด้านความเร็วของระบบที่สูงขึ้นมาก, การใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ, สัญญาณบริเวณขอบเซลล์ที่ดีขึ้น, เซลล์ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการโครงข่ายที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีบางประเทศอย่างเช่นเกาหลีใต้ ได้เริ่มให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในระบบ LTE-A นี้กันแล้ว อีกทั้งโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆภายในปีนี้ก็อาจที่จะรองรับระบบ LTE-A นี้กันมากขึ้นด้วย

 

“เทคโนโลยีสมาร์ทโฟน”ตอนต่อไป

โทรศัพท์มือถือยุคใหม่ หัวใจอยู่ที่ “ชิปประมวลผล”

ARM กับ X86, RISC กับ CISC มหาอำนาจต่างขั้วบนโลกของซีพียู

ชิปประมวลผล ARM และ Intel (x86) บนสมาร์ทโฟน

(ต่อ) ชิปประมวลผล ARM และ Intel (x86) บนสมาร์ทโฟน

 

 

Published by

Passakorn Pacharoen

เรียนมาทางด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และสื่อสารโทรคมนาคม แต่หลังจากเรียนจบ ชีวิตก็ก้าวเดินอยู่บนเส้นทางสายคอมพิวเตอร์มาโดยตลอด นับตั้งแต่เป็นอาจารย์ เป็นวิทยากร จนมาเป็นบรรณาธิการและนักเขียน ที่มีผลงานการเขียนหนังสือคอมฯที่ออกจะแนวๆฮาร์ดคอร์มายาวนาน กว่าสิบปี พร้อมๆไปกับการตามติดข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่ทุกๆวันนี้แทบแยกกันไม่ออกระหว่างคอมพิวเตอร์กับโทรศัพท์มือถือ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *