เดี๋ยวนี้หากจะซื้อสมาร์ทโฟนสักเครื่อง สิ่งแรกที่ใช้วัดและตัดสินใจในการซื้อก็คือสเปกซีพียูหรือหน่วยประมวลผล เรียกว่าเหมือนกับการซื้อคอมพิวเตอร์ไปเสียแล้ว โดยหน่วยประมวลผลบนสมาร์ทโฟนที่นิยมและเป็นที่รู้จักกันเป็นส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นค่าย Qualcomm ในชื่อรุ่น Snapdragon หรือจะเป็นของ Samsung ก็จะรู้จักกันในชื่อ Exynos แต่สำหรับอินเทลถือเป็นน้องใหม่สำหรับผู้ผลิตหน่วยประมวลผลสำหรับสมาร์ทโฟน ซึ่งปีนี้จะเป็นปีที่อินเทลให้ความสำคัญกับการพัฒนาซีพียู อินเทล อะตอม เป็นอย่างมาก โดยจะมีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ บ้างนั้นผมได้เก็บเกี่ยวประเด็นจากงาน Intel Mobility Roadshow 2014 มาฝากชาว OopsMobile เรียบร้อยแล้วครับ โดยจะสรุปเป็นประเด็นๆ สำคัญมาให้อ่านกันนะครับ
สำหรับหน่วยประมวลผลหรือซีพียู สำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของอินเทลจะอยู่ในตระกูล อะตอม (Atom) โดยจะแบ่งเป็นซีรี่ย์ต่างๆ ดังนี้
• Clover Trail+ จะรองรับสำหรับ Android โดยเฉพาะ (ออกมาเมื่อต้นปี 2013) (Asus Zenphone 4,5,6 ใช้ซีรีส์นี้)
• Clover Trail (ไม่มีเครื่องหมายพลัส)จะรองรับสำหรับ Windows Phone
• Bay Trail จะเป็นซีรีย์ใหม่ล่าสุด รองรับเทคโนโลยี 64 บิต ตัวแรก และรันได้ทั้ง Android และ Windows Phone สามารถรองรับการติดตั้งแบบมัลติโอเอสได้
แท็บเล็ตจากแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ASUS, Dell, acer, lenovo, samsung, hp ที่ใช้ซีพียู Intel Atom
มีอะไรใหม่ใน Bay Trail Platform
• เป็นซีพียู 64 บิต หาก Android เปลี่ยนเป็น 64 บิต ก็สามารถรองรับได้เลยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่อง
• เป็น Quad Core แท้ๆ
• แปลงวิดีโอได้เร็วกว่ารุ่นก่อนถึง 3 เท่า
• เมมโนรีใหญ่ขึ้น
• กินไฟลดลง
• มีระบบป้องกันความปลอดภัย
• สามารถเชื่อมต่อหน้าจอแบบ Wireless รองรับเทคโนโลยี Miracast
ซีพียู Platform ใหม่ และอนาคตที่กำลังจะมา
• Merrifield เป็นซีพียู Dual Core กินไฟน้อย กราฟฟิกดีกว่าเดิม 2 เท่า (เทียบกับ Clover Trail+) รองรับ LTE
• Morefield เป็นซีพียู Quad Core ส่วนคุณสมบัติก็เหมือนกับ Merrifield
• SoFIA 3G, SoFIA LTE เป็นชิป SOC ตัวแรกที่รวมเอา Intel Application Processor ที่เรียกว่า ATOM มารวมกับ Comms Processor ที่เป็น 3G,2G,GPS รวมถึง Audio อยู่ในชิปเดียวกัน คือเป็นซิปที่รวมโปรเซสเซอร์และโมเด็มอยู่ในตัวเดียวกัน จะออกมาในไตรมาส 4 ของปีนี้ (เริ่มที่ SoFIA3G ก่อน) ราคาจะถูกกว่า Clover Trail+ อีก
• Cherry Trail จะเป็นซีพียูที่ผลิตด้วยสถาปัตยกรรม 14 นาโนเมตร ตัวแรก โดยจะออกมาสิ้นปีนี้
• Broxton จะเป็น 14 นาโนเมตรเหมือนกัน แต่ไว้รองรับสมาร์ทโฟนระดับ Hi-End จะออกมากลางปี 2015
ข้อมูลและตัวเลขที่น่าสนใจ
• 7-8 นิ้ว คือขนาดของหน้าจอแท็บเล็ตที่กำลังได้รับความนิยมในเมืองไทย ส่วน 10 นิ้ว จะลดลง
• ข้อดีของการใช้ซีพียูอินเทลในแท็บเล็ตคือการขยายหน้าจอที่ 2 หรือ Extend Screen โดยใช้เทคโนโลยี Wi-Di (ไวได) แต่ทำได้เฉพาะบนแท็บเล็ต Windows ถ้าเป็น Android จะได้แค่ Duplicate ที่แสดงผลเหมือนกันทั้ง 2 จอเท่านั้น
• ในแง่การใช้งานข้อมูล ทุกวันนี้มีข้อมูลเพิ่มขึ้นในอินเทอร์เน็ตมากถึง 5 Exabyte หรือ 5 ล้านล้านล้านไบต์ ในทุกๆ 2 วัน
• ซึ่งเทคโนโลยีมันทำให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์มากขึ้นซึ่งสังเกตว่าใน 1 คน มีอุปกรณ์พกพามากกว่า 1 ตัว ดังนั้นอุปกรณ์เหล่านี้จึงทำให้เกิดการใช้งานข้อมูลเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
• ค่าเฉลี่ยทั่วโลก ที่คนใช้งานแท็บเล็ตต่อวันอยู่ที่ 50 นาที ส่วนมือถืออยู่ที่ 147 นาที แต่ที่สำคัญคือคนไทยใช้มากกว่านั้น โดยคนไทยใช้แท็บเล็ต 95 นาทีต่อวัน ส่วนมือถือ 167 นาทีต่อวัน แสดงว่าคนไทยเป็นสังคมก้มหน้าอย่างจริงจัง
• ถ้านับรวมการนั่งดูหน้าจอทุกประเภทแล้ว ใน 5 ชั่วโมง คนไทยสามารถใช้เวลาดูจอได้กว่า 7 ชั่วโมง ถามว่าเป็นไปได้ยังไง ผลสำรวจบอกว่า คนไทยสามารถเล่นมือถือไป ดูทีวีไปด้วยนั่นเอง